การก่อตั้งอาเซียน

 

      สมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือสมาคมอาสา (Association of South-East Asia : ASA)  

 

ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2504  โดยมีสมาชิก 3 ประเทศได้แก่ ฟิลิปปินส์ สหพันธ์มลายา และไทย  

เป้าหมายหลักเพื่อช่วยเหลือกันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม  แต่ราวปลายปี พ.ศ. 2505

เกิดข้อพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างสหพันธ์มลายากับฟิลิปปินส์จึงได้ยุติความสัมพันธ์กันไป 

รวมทั้งสิงคโปร์ได้ขอแยกตัวออกจากสหพันธ์มลายา ในปี พ.ศ.2508 และสหพันธ์มลายาได้เปลี่ยนชื่อเป็นมาเลเซีย

     แต่เนื่องจากห้วงเวลานั้นเป็นยุคแห่งการเผชิญหน้าทางการเมืองบนความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ 

ในขณะเดียวกันก็มีความขัดแย้งด้านดินแดนระหว่างประเทศในภูมิภาคด้วยเช่นกัน  รวมทั้งมีความตึงเครียดอันเป็นผลมาจากสงครามเย็นซึ่งเป็นความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ระหว่างประเทศ

ที่สนับสนุนอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยกับประเทศที่ยึดมั่นในอุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์  ทำให้หลายประเทศเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นในการร่วมมือกันระหว่างประเทศในภูมิภาค  ดังนั้น อินโดนีเซียและมาเลเซียจึงได้ริเริ่มฟื้นฟูความสัมพันธ์ภายในภูมิภาคขึ้นมาใหม่ภายใต้การรวมตัวเป็น “สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือ “อาเซียน” (Association of Southeast Asian Nations – ASEAN)  

     อาเซียนก่อตั้งขึ้นโดยการลงนามในปฏิญญาสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Declaration of ASEAN Concord) หรือที่รู้จักอีกชื่อหนึ่งว่าปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration)  โดยผู้แทนประเทศสมาชิกที่ร่วมนามก่อตั้งอาเซียนมี 5 ประเทศ ได้แก่ นายอาดัม มาลิก รัฐมนตรีต่างประทศอินโดนีเซีย ตุน อับดุล ราชัก บิน ฮุสเซน รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาแห่งชาติมาเลเซีย นายนาซิโซ รามอส รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ นายเอส ราชารัตนัม รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ และพันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันต์ รัฐมนตรีต่างประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2510  ณ วังสราญรมย์ กรุงเทพมหานคร

     อาเซียนก่อตั้งขึ้นเพื่อเร่งรัดความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในภูมิภาคโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างกัน  ส่งเสริมพื้นฐานและเสถียรภาพในภูมิภาคโดยยึดหลักยุติธรรมและกฎเกณฑ์ของกฎบัตรสหประชาชาติ  ส่งเสริมความร่วมมือและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิชาการ และวิทยาศาสตร์ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ

     ในเวลาต่อจากนั้น ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มเติม ได้แก่ บรูไนดารุสซาลามเข้ามาเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2527 เวียดนามเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2538  ลาวและพม่าเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2540 และกัมพูชาเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2542  เมื่อรับกัมพูชาเข้ามาเป็นสมาชิกทำให้อาเซียนมีสมาชิกครบ 10 ประเทศ

     ทั้งนี้  การเข้าร่วมของประเทศสมาชิกใหม่เหล่านี้สอดคล้องกับปฏิญญาอาเซียน ซึ่งระบุไว้ว่าอาเซียนพร้อมรับทุกประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พร้อมที่จะรับเป้าหมาย หลักการและวัตถุประสงค์ขององค์กรเป็นสมาชิก

สงวนลิขสิทธิ์ © Asean Countries